เข้าสู่วิถีชีวิตพนักงานกินเงินเดือน วันลาไม่ว่าจะเป็นลากิจ ลาป่วย หรือลาพักร้อนก็ล้วนเป็นของคู่กันกับพนักงานอย่างเรา ๆ ซึ่งเราก็เชื่อว่าเหล่าพนักงานทั้งหลายแทบจะลามาหมดแล้วทุกประเภทที่ระบุเอาไว้ อาจจะเว้น ลาคลอด ลาบวชที่บางคนอาจทำไม่ได้ โดยข้ออ้างยอดฮิตที่ชาวออฟฟิศมักใช้กัน นั่นก็คือ ท้องเสีย เป็นไข้ ตัวร้อน บางครั้งก็เป็นเรื่องจริง บางครั้งก็เป็นข้ออ้าง
ถึงเวลาแล้วทุกคนที่เราจะ Rebranding ตัวเองใหม่ “เลิกหาข้ออ้างลางานแบบจำเจ” แล้วเข้ามาสู่วิธีการลางานแบบมืออาชีพ ที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวคุณเอง และทำให้นายจ้างจับไม่ได้ ซึ่งมีอะไรบ้าง มาดูกัน
รู้ไว้ก่อนลางาน ประเภทวันลาและสิทธิการลาตามกฎหมาย
เรื่องที่ควรรู้ก่อนลางาน สิทธิในการลาตามกฎหมายที่ชาวออฟฟิศสามารถลาได้ มีทั้งหมด 7 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
- ลาป่วย: การลาป่วยทุกคนสามารถลาได้ตามจริง โดยยังคงได้รับค่าจ้างอยู่หากไม่เกิน 30 วัน อย่างไรก็ตามหากลางานเกิน 3 วันจำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์มาประกอบการลางานของคุณด้วย
- ลากิจ: การลากิจนั้นสามารถลาได้ไม่เกิน 3 วันต่อปี โดยที่บริษัทยังจ่ายค่าจ้างตามปกติ
- ลาพักร้อน: การลาพักร้อนลูกจ้างมีสิทธิลาได้ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันหากลูกจ้างทำงานมาเกิน 1 ปี และสามารถยกหรือสะสมเป็นวันลาพักร้อนในปีอื่นได้
- ลาไปฝึกอบรม: เป็นการลาที่ลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าว
- ลาคลอดและลาตรวจครรภ์ก่อนคลอด: สามารถลารวมกันได้ทั้งหมด 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน
- ลาทำหมัน: ต้องมีใบรับรองจากแพทย์และสามารถหยุดงานได้ตามคำสั่งของแพทย์โดยที่ยังได้รับค่าจ้างอยู่
- ลารับราชการทหาร: สามารถลาได้ตามจำนวนที่ทางการทหารเรียก โดยยังได้รับค่าจ้างไม่เกิน 60 วันต่อปี
เทคนิคลางานแบบมืออาชีพ
ถึงคราวที่เราจะต้องรีแบรนด์ดิ้งตัวเองใหม่ โดยต้องลางานแบบมืออาชีพ ซึ่งเทคนิคดี ๆ ที่มีมาฝากทำตามง่าย ใช้ได้จริง เพียงปฏิบัติตามนี้ค่ะ
1. รู้ว่าต้องลา…เคลียร์งานให้เสร็จ
สำหรับคนที่ทราบวันลาล่วงหน้า อาทิ ลาพักร้อน หรือลากิจก็ตาม ควรที่จะเคลียร์งานให้เรียบร้อย หรือส่งมอบงานให้เพื่อนในทีมเสียก่อน เพื่อให้งานยังคงเดินต่อไปได้และไม่ส่งผลกระทบต่องานในช่วงเวลาที่คุณลา รวมถึงควรหลีกเลี่ยงวันลาในช่วงที่มีวันสำคัญหรือวันที่คุณมีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ อาทิ งานนัดพบกับลูกค้าสำคัญ วันพรีเซนต์โปรเจค วันเปิดตัวสินค้า อีเวนต์สำคัญของบริษัท เพราะนั่นหมายถึงความรับผิดชอบของคุณที่มีต่องานที่ได้รับมอบหมาย โดยถ้าหากสามารถกำหนดวันลาได้ ให้เลือกวันลาในวันที่ไม่ค่อยยุ่งมากแทน
2. รีบบอก..หากรู้ว่าต้องลา
ในช่วงเวลาที่ชีวิตต้องเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ รถชน หรือมีใครในครอบครัวต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน รีบบอกหัวหน้างานทันที เพื่อแจกแจงงานที่ตนถืออยู่ให้หัวหน้าได้ทราบ โดยอาจคิดหนทางหาทางแก้ไขไว้ล่วงหน้า โดยอาจจะมอบหมายงานให้เพื่อนร่วมงานทำแทน หรือทำต่อที่บ้าน แต่ถ้างานยังไม่รีบมากนักก็สามารถเลื่อนวันส่งออกไปได้ โดยคุณกำหนดเดดไลน์ส่งงานใหม่เพื่อให้หัวหน้ารับทราบ และเพื่อแสดงสปิริตของคุณที่มีต่องานด้วย
3. แสดงสปิริตเคลียร์งานจากที่บ้าน
สำหรับคนที่ป่วย..แต่ว่ายังไหวอยู่ ซึ่งในช่วงนี้หลายคนทราบกันดีว่าไม่ว่าป่วยนิดเดียวหรือป่วยหนักก็ไม่ควรไปทำงาน เพราะอาจนำโรคไปติดเพื่อนร่วมงานได้จึงจำเป็นต้องพักผ่อนอยู่บ้าน อย่างไรก็ตามหากคุณมีอาการไม่มากนัก และสามารถทำงานได้ ให้แสดงสปิริตกับหัวหน้าของคุณ โดยบอกหัวหน้าของคุณว่าคุณสามารถสะสางงานจากที่บ้านได้หากมีงานเข้ามาด่วน แต่ถ้าป่วยหนักก็แค่รีบแจ้งหัวหน้าตั้งแต่เช้า และแจกแจงงานของคุณให้หัวหน้ารับทราบ เพื่อให้มีส่วนรับผิดชอบในงานทำงานแทนต่อไปได้
4. ระวังเรื่องการโพสต์ลงโซเชียล มีเดีย
ในกรณีที่คุณลาพักร้อน หรือลากิจโดยแจ้งล่วงหน้าแล้ว คุณสามารถโพสต์ลงโซเชียลได้ตามปกติ แต่ถ้าหากคุณลาป่วยแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ดีอย่างแน่นอน หากคุณโพสต์รูปตัวเองในท่าทางที่เริงร่าในขณะที่ตนเองนั้นกำลังป่วยอยู่โดยมีเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานเป็นเพื่อนกันในนั้น เป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกจับได้ เพราะฉะนั้นอย่าโพสต์อะไรลงไปเลยดีกว่าค่ะ
5. เลือกวันลาอย่างระมัดระวัง
การเลือกวันลาทำให้คุณเป็นที่จับตากับเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งลาติดกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ คุณอาจถูกจับผิดว่ากำลังลาเพื่อหนีไปเที่ยวหรือหนีไปต่างจังหวัด ซึ่งทำให้คุณต้องแจกแจงมากกว่าปกติหากคุณมีธุระจริง ๆ แต่ที่หนักกว่านั้นคือจำนวนงานที่คลั่งค้างในวันหยุดยาว ซึ่งมันอาจล้มทับคุณเมื่อคุณกลับมาทำงานมาอีกครั้ง ดังนั้น การเลือกวันลานั้นสำคัญมาก ๆ โดยควรเลือกวันที่งานน้อย กลับมาทำงานแล้วงานน้อย รวมถึงไม่มีงานสำคัญใด ๆ ที่คุณเหลือทิ้งไว้อีกด้วย
6. มีของฝากเสมอเมื่อกลับจากพักร้อน
การนำของฝากมาเป็นของขวัญฝากที่ทำงานเป็นสิ่งที่ Add on เข้ามาซึ่งคุณจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่การนำของฝากมาฝากเพื่อนร่วมทีมมีข้อดี นั่นก็คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนในทีม และยังเป็นการขอบคุณที่เพื่อนช่วยดูแลงานในขณะที่เราลาอีกด้วย มีข้อดีแบบนี้อย่าลืมนำของฝากมาติดไม้ติดมือมาฝากเพื่อนร่วมงานกันนะคะ
เทคนิคการลางานแบบมืออาชีพทำได้ไม่ยากเลย ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยคงความเป็นพนักงานออฟฟิศแบบมือโปรของคุณเอาไว้ และทำให้คุณลาได้อย่างราบรื่น โดยที่งานไม่เสีย เพื่อนร่วมงานไม่เหม็น และเจ้านายยังรักมากอีกด้วย ลองทำตามดูนะคะ
อ่านบทความเคล็ดลับการทำงานของ jobbee.work ที่จะให้การทำงานที่ยุ่งยากเป็นเรื่องง่าย เพิ่มเติม ได้ที่
- 4 How to การติดตามผลสัมภาษณ์ เพื่อตามติดพิชิตงานในฝัน!
- คาถาสมัครงาน คาถาสัมภาษณ์งาน มูยังไงให้ได้งาน!
- 5 เคล็ดลับ สร้างความก้าวหน้าในอาชีพ