5 โรคทางใจ วัยทำงานควรระวัง

25 Feb 2021 | เคล็ดลับการทำงาน

โรคทางใจในวัยทำงาน

ชีวิตการทำงานไม่มีอะไรที่ได้ดั่งใจหรือเป็นไปตามแผนเสมอไป หลายคนอาจเจออุปสรรคหรือปัญหาสุขภาพที่เข้ามาบั่นทอนกำลังใจอีกทั้งการแข่งขันต่างๆ ในบริษัทจนทำให้สีสันในการทำงานค่อยๆ หมดไป เหลือเพียงความตึงเครียดและความกดดันในการทำงานที่เข้ามารบกวนใจและทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หรือบางคนอาจจะถึงขั้นหมดใจ หมดไฟในการทำงานไป ซึ่งสภาวะเหล่านี้สามารถเกิดได้กับทุกคนหากไม่ระมัดระวังหรือไม่หมั่นสำรวจตัวเองให้ดี วันนี้ Jobbee จึงจะพาไปรู้จักกับ 5 โรคทางใจที่หนุ่มสาววัยทำงานควรระวัง ก่อนจะสายเกินไปกันค่ะ

1. โรคสมาธิสั้นในวัยทำงาน (Attention Deficit Trait: ADT)

โรคสมาธิสั้นในวัยทำงาน หรือ ADT เป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมที่วุ่นวายและบีบคั้นเป็นหลัก สามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่ต้องรับผิดชอบงานหลายๆงานในเวลาเดียวกัน งานมีกำหนดส่งงานกระชั้นชิด และมักจะพบได้บ่อยในระดับผู้บริหาร ผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะไม่สามารถจดจ่อกับงานใดเป็นเวลานานๆ ได้ จะมีปัญหาในเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญและการบริหารเวลาในการทำงาน ภายในใจกระวนกระวายไม่รู้จะทำสิ่งใดก่อน

วิธีรับมือ : พยายามจัดสรรเวลาอย่างเป็นระบบไม่ว่าจะเป็นเวลาทำงานหรือเวลาพักผ่อนเพราะคนที่เป็นโรคนี้มักจะเกิดจากการนอนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถ้าเป็นไปได้ลองนำปัญหานี้ไปปรึกษากับองค์กรของคุณ

2. โรคเครียด (Acute Stress Disorder)

เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในวัยทำงานหรือมนุษย์เงินเดือนที่มีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น งานมีความท้าทาย สภาพแวดล้อมหรือคนในที่ทำงานแปลกใหม่ สิ่งเหล่านั้นอาจจะทำให้หลายคนเกิดความกดดันในการทำงาน จากผลสำรวจของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า COVID-19 สร้างผลกระทบต่อสุขภาพจิตคนวัยทำงานในวงกว้าง ภาวะเครียดในวัยทำงานมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ซึ่งเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลายคนกังวลจนเริ่มกดดันตัวเองในการทำผลงานทำให้เกิดเป็นภาวะเครียดจากงานที่ทำ จนอาจจะนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานได้

วิธีรับมือ : สามารถทำได้โดยการหาเวลาผ่อนคลายให้มากขึ้น คุณอาจจะลองจัดตารางเวลาหรือความสำคัญของงานและเลือกที่จะปล่อยวางในสิ่งที่คุณไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ หากคุณกำลังคิดว่างานที่ทำอยู่มันเครียดเกินไปหรือไม่สามารถคิดอะไรต่อได้แล้ว ลองหยุดสักพักแล้วออกไปเดินสูดอากาศ นอนพักหรือรับประทานของหวานเพื่อให้สมองปลอดโปร่งและกลับมาทำงานต่อได้นั่นเองค่ะ

3. โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)

หลายคนอาจจะคิดว่าทุกคนก็มีเรื่องให้วิตกกังวลเป็นปกติ แต่หากคุณมีอาการวิตกกังวลแบบเดิมติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 6 เดือนซึ่งส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคุณ ให้คุณสันนิษฐานได้ว่าคุณเริ่มเข้าข่ายของคนที่เป็นโรควิตกกังวลแล้วนั่นเอง ซึ่งคุณอาจจะมีอาการนอนไม่กลับ อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิและหงุดหงิดตลอดเวลา

วิธีรับมือ: ในส่วนของโรควิตกกังวล หากรู้ตัวยิ่งเร็วยิ่งดี ควรจะรีบปรึกษาแพทย์เนื่องจากโรควิตกกังวลมีเกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง

4. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder)

โรคย้ำคิดย้ำทำเกิดจากการคิดซ้ำไปซ้ำมาว่าเราจะต้องทำงานเหล่านั้นให้เสร็จ หรือเราวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาว่างานที่ทำไปแล้วสมบูรณ์แบบหรือลุล่วงตามที่ต้องการแล้วหรือยัง ทำให้สมองเราไม่ว่างจากงานๆ หนึ่งจนเราอาจจะต้องกลับไปดูหรือไปทำงานนั้นซ้ำบ่อยๆ จนเกิดเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งเริ่มจากการทำงานสู่กิจกรรมอื่นๆในชีวิตประจำวัน แม้เราจะมองว่ามันไม่กระทบกับชีวิตประจำวันมากเท่าใดแต่หากสังเกตดีๆ ก็ทำให้เสียเวลาไปมากทีเดียว

วิธีรับมือ: เนื่องจากโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสารเซโรโทนินในสมอง จึงควรรีบปรึกษาแพทย์ในเร็วที่สุดเช่นเดียวกับโรควิตกกังวล

5. โรคซึมเศร้า (Depression)

ถือเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้มากที่สุดในปัจจุบันและพบบ่อยในวัยเรียนและวัยทำงาน โดยปัจจุบันได้มีหลายหน่วยงานและหลายกลุ่มบุคคลได้ออกมาสร้างความเข้าใจกับโรคนี้มากขึ้นเพราะโรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกคนแม้เราจะมองว่าคนๆ นั้นมีความสุขอยู่ก็ตาม โดยโรคซึมเศร้าในวัยทำงานมักมีสาเหตุมาจากความเครียดสะสมและความสัมพันธ์กับคนภายในองค์กรซึ่งมนุษย์ทำงานหลายคนเองก็เคยปประสบกับสภาวะนี้

วิธีรับมือ: เนื่องจากคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีสารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติและทำให้เป็นอันตรายต่อผู้เป็นโรคเอง มนุษย์เงินเดือนที่พบว่าตัวเองอาจจะเข้าข่ายโรคซึมเศร้าจึงควรพบแพทย์โดยด่วนที่สุดค่ะ

นี่ก็คือโฉมหน้าของ 5 โรคทางใจที่สามารถพบได้ในมนุษย์เงินเดือนนะคะ ซึ่งแต่ละโรคนั้นมีลักษณะของอาการและความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ที่สำคัญเลยคือโรคทุกโรคที่กล่าวมานี้สามารถรักษาให้หายได้และมันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนค่ะ เพราะฉะนั้นอย่ามัวลังเลที่จะพบแพทย์เมื่อพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกตินะคะ สุดท้ายนี้อยากฝากให้ทุกคนหมั่นดูแลจิตใจตัวเองให้ดี แม้ว่าความสำเร็จในชีวิตจะสำคัญแต่อย่าลืมว่าสุขภาพเราก็สำคัญไม่แพ้กันนะคะ

Share This